เศรษฐกิจพอเพียง

ประกอบด้วย 3 บ่วง 2 เงื่อน

3 บ่วง หมายถึง ความพอประมาณ ความมีเหตุผล และ การมีภูมิคุ้มกันที่ดี

2 เงื่อน เงื่อนในที่นี้ หมายถึงเงื่อนไข คือ
   1. รอบคอบ รอบรู้ ระมัดระวัง
   2. ตระหนักในคุณธรรม ซื่อสัตย์สุจริต มีความอดทน พากเพียร และ ใช้สติปัญญาในการดำเนินชีวิต

เศรษฐกิจพอเพียง เป็นปรัชญาที่ชี้แนวทางการดำรงชีวิต ที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมีพระราชดำรัสแก่ชาวไทยนับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2517 เป็นต้นมา และถูกพูดถึงอย่างชัดเจนในวันที่ 4 ธันวาคม พ.ศ. 2540 เพื่อเป็นแนวทางการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจของประเทศไทย ให้สามารถดำรงอยู่ได้อย่างมั่นคงและยั่งยืนในกระแสโลกาภิวัตน์และความเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ เศรษฐกิจพอเพียงมีบทบาทต่อการกำหนดอุดมการณ์การพัฒนาของประเทศ โดยปัญญาชนในสังคมไทยหลายท่านได้ร่วมแสดงความคิดเห็น อย่างเช่น ศ.นพ.ประเวศ วะสี, ศ.เสน่ห์ จามริก, ศ.อภิชัย พันธเสน, และศ.ฉัตรทิพย์ นาถสุภา โดยเชื่อมโยงแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงเข้ากับวัฒนธรรมชุมชน ซึ่งเคยถูกเสนอมาก่อนหน้าโดยองค์กรพัฒนาเอกชนจำนวนหนึ่งนับตั้งแต่พุทธทศวรรษ 2520 และได้ช่วยให้แนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางในสังคมไทย
สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติได้เชิญผู้ทรงคุณวุฒิในทางเศรษฐกิจและสาขาอื่น ๆ มาร่วมกันประมวลและกลั่นกรองพระราชดำรัสเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อบรรจุในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 9 และได้จัดทำเป็นบทความเรื่อง "ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง" และได้นำความกราบบังคลทูลพระกรุณาขอพระราชทานพระบรมราชวินิจฉัย เมื่อวันที่ 22 ตุลาคม พ.ศ. 2542 โดยทรงพระกรุณาปรับปรุงแก้ไขพระราชทานและทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้นำบทความที่ทรงแก้ไขแล้วไปเผยแพร่ เพื่อเป็นแนวทางปฏิบัติของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติและทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนประชาชนโดยทั่วไป เมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2542
ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงนี้ได้รับการเชิดชูเป็นอย่างสูงจากองค์การสหประชาชาติ ว่าเป็นปรัชญาที่มีประโยชน์ต่อประเทศไทยและนานาประเทศ และสนับสนุนให้ประเทศสมาชิกยึดเป็นแนวทางสู่การพัฒนาแบบยั่งยืน โดยมีนักวิชาการและนักเศรษฐศาสตร์หลายคนเห็นด้วยกับแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง แต่ในขณะเดียวกัน บางสื่อได้มีการตั้งคำถามถึงการยกย่องขององค์การสหประชาชาติ รวมทั้งความน่าเชื่อถือของรายงานศึกษาและท่าทีขององค์การ


1. ความหมายของเศรษฐกิจพอเพียง
                พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ  ทรงอธิบายความหมายของหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง  ในกระแสพระราชดำรัสกั้บพสกนิกรชาวไทยว่า ......แบบพอมีพอกินนั้นหมายความว่าอุ้มชูตัวเองได้มีพอเพียงกับตนเอง.....
                   .....เศรษฐกิจพอเพียง ฝรั่งเรียก Self-Sufficiency Economy  เศรษฐกิจแบบพอเพียงกับตนเอง  เราก็อยู่ไม่เดือดร้อน....    (ธันวาคม พ.ศ.2540)

                ....คำว่าพอเพียงมีความหมายอีกอย่างหนึ่ง  มีความหมายกว้างออกไปอีก  ไม่ได้หมายถึงการมีพอสำหรับใช้เองเท่านั้น  แต่มีความหมายว่าพอมีพอกิน........พอมีพอกินก็แปลว่าเศรษฐกิจพอเพียงนั้นเอง.....
                ........ให้พอเพียงนี้ก็หมายความว่ามีกินมีอยู่ไม่ฟุ่มเฟือย  ไม่หรูหราก็ได้แต่ว่าพอ  แม้บางอย่างอาจจะดูฟุ่มเฟือย  แต่ถ้าทำให้มีความสุข ถ้าทำได้ก็สมควรจะทำ  สมควรที่จะปฏิบัติ  อันนี้ก็ความหมายอีกอย่างหนึ่งของเศรษฐกิจหรือระบบพอเพียง.....
                .......แต่ความจรืงแล้วเศรษฐกิจพอเพียงนี้  กว้างขวางว่า  Self-Sufficiency คือ Self-Sufficiency  นั้นหมายความว่า ผลิตอะไรที่พอที่จะใช้  ไม่ต้องไปซื้อจากคนอื่น  อยู่ได้ด้วยตนเอง.....
                ......มีความคิดว่าทำอะไรต้องพอเพียง  หมายความว่าพอประมาณ  ไม่สุดโต่ง  ไม่โลภอย่างมาก   คนเราก็อยู่เป็นสุข  พอเพียงนี้อาจจะมีมาก  อาจจะมีของหรูหราก็ได้  แต่ต้องไม่เบียดเบียนคนอื่น  ต้องให้พอประมาณตามอัตภาพ....
                .....ฉะนั้นความพอเพียงนี้ก็แปลว่าพอประมาณ  และมีความมีเหตุมีผล.....
                .....แต่อย่างไรก็ตาม  เศรษฐกิจพอเพียงนี้ขอย้ำว่าเป็นเศรษฐกิจหรือความประพฤติที่ทำอะไรเพื่อให้เกิดผล  โดยมีเหตุและผล  คือเกิดผลนั้นมาจากเหตุ  ถ้าทำเหตุที่ดี  ถ้าคิดให้ดีผลที่ออกมาคือสิ่ งที่ติดตามเหตุ  การกระทำก็อาจเป็นการกระทำที่ดี  ดีแปลว่ามีประสิทธิผล  ดีแปลว่าทำให้มีความสุข....
                ......เศรษฐกิจพอเพียงได้ย้ำและแปลเป็นภาษาอังกฤษว่า  Self-Sufficiency Economy  ใครต่อใครต่อว่าว่าไม่มี Sufficiency Economic  แต่เป็นคำใหม่ของเราก็ได้  คือหมายความว่าประหยัด แต่ไม่ใช่ขี้เหียว  ทำอะไรมีความอะลุ้มอล่วยกัน  ทำอะไรด้วยเหตุด้วยผล จะเป็นเศรษฐกิจพอเพียง  แล้วทุกคนจะมีความสุข....
                กล่าวโดยสรุป  เศรษฐกิจหมายถึง  ความสามารถของชุมชน  เมือง  รัฐ  ประเทศ  หรือภูมิภาคในการผลิต  บริโภค  แลกเปลี่ยน จำแนกแจกจ่าย  จัดสรรผลตอบแทนแก่เจ้าของปัจจัยการผลิต  เพื่อการดำรงชีพของสังคมนั้น  โดยไม่จำเป็นต้องพึ่งพาปัจจัยจากภายนอก
                สำหรับความหมายในระดับบุคคล คือ ความสามารถในการดำรงชีพอย่างไม่เดือดร้อนมีความเป็นอยู่ตามอัตภาพ  เสรีภาพ  และไม่อ่อนไหวไปตามกระแสวัตถุนิยม  ที่สำคัญคือให้ยึดเส้นทางสายกลางในการดำรงชีวิต
2.ความเป็นมาของเศรษฐกิจพอเพียง
                ทฤษฎีใหม่
                พระบาทสมเด็จพระเจ้อยู่หัวได้ทรงพระราชทานแนวความคิดเกี่ยวกับหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาเป็นระยะเวลายาวนานเกือบ 30 ปีมาแล้ว  โดยในช่วงต้นมิได้ใช้คำว่า  เศรษฐกิจ  นำหน้าแต่อย่างไร  หากแต่ได้ทรงมีพระราชดำรัสเน้นคำว่า พอ   หรือ  พอมีพอกิน  และคำว่า  พอเพียง   มาโดยตลอด ทั้งนี้เพราะพระองค์ทรงหว่งใยในชีวิตความเป็นอยู่ของพสกนิกรชาวไทยโดยเฉพาะเกษตรกร  ซึ่งเป็นประชากรส่วนใหญ่ของประเทศที่ประสบปัญหาความยากจน  อดยาก  ขาดแคลน  ทำนาทำไร่ไม่ได้ผล
                พระองค์ได้ทรงศึกษา  ค้นคว้า  ทดลองเกี่ยวกับงานทางด้านการเกษตรด้วยพระองค์เอง  และได้ทรงพบว่าตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันประชาชนมีปัญหาหลักที่สำคัญคือขาดแคลนน้ำเพื่อการเกษตรกรรม  โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเขตพื้นที่เกษตรที่อาศัยน้ำฝนซึ่งเป็นพื้นที่ส่วนใหญ่ของประเทศ  ทำนาข้าวและพืชได้เพียงครั้งเดียวในฤดูฝนเท่านั้น  อีกทั้งยังขาดแคลนน้ำในระยะฝนทิ้งช่วง  แม้จะขุดบ่อหรือสระเก็บน้ำก็ยังมีปัญหาน้ำไม่พอใช้  และระบบการปลูกพืชไร่ส่วนใหญ่จะปลูกพืชชนิดเดียว  พระองค์จึงทรงมีพระราชดำริ  เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำ
                พระราชดำริดังกล่าวก่อให้เกิด  ทฤษฎีใหม่  ซึ่งถือเป็นหลักในการบริหาร  การจัดการที่ดินและน้ำเพื่อการเกษตรกรรมที่ดินขนาดเล็กให้เกิดประโยชน์สูงสุด  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงถือว่าตนแบบทฤษฎีใหม่คือโครงการพัมนาที่วัดมงคลชัยพัฒนา  ตำบลห้วยบง  และตำบลเขาดินพัฒนา  อำเภอเมือง  (ปัจจุบันคืออำเภอเฉลิมพระเกียรติ)  จังหวัดสระบุรี
                การเกษตรกรรมตามแนวทฤษฎีใหม่จะจัดสรรพื้นที่อยู่อาศัยและที่ทำกินแบ่งพื้นที่ออกเป็น  4  ส่วน  ตามอัตราส่วน  30:30:30:10  โดยพื้นที่ส่วนที่ 1  ประมาณร้อยละ 30  ขุดสระเก็บกักน้ำในฤดูฝนและเสริมการปลูกพืชในฤดูแล้ง  พื้นที่ส่วนที่ 2  ประมาณร้อยละ 30  ใช้ปลูกข้าวในฤดูฝน  พื้นที่ส่วนที่ 3  ประมาณร้อยละ 30  ใช้ปลูกไม้ผล  ไม้ยืนต้น  พืชผัก  สมุนไพร เพื่อใช้ประจำวันและจำหน่าย  พื้นที่ส่วนที่ 4  ประมาณร้อยละ 10  ใช้เป็นที่อยู่อาศัย  เลี้ยงสัตว์  และโรงเรือนอื่น ๆ  ซึ่งการดำเนินการตาม ทฤษฎีใหม่  เป็นวิธีการอย่างหนึ่งที่จะทำให้ประชาชนมีกินตามอัตภาพ  สามารถเลี้ยงตนเองได้
                  ความเป็นมา
                  ประมาณกลางปี  พ.ศ.2540 ได้เกิดวิกฤตเศรษฐกิจครั้งสำคัญในประเทศไทย  โดยมีสาเหตุจากการชะลอตัวของการส่งออก  ซึ่งเป็นแหล่งรายได้เงินตราต่างประเทศที่สำคัญ  ประสบปัญหาการกีดกันการนำเข้าจากต่างประเทศ  หลักทรัพย์ที่ค้ำประกันเงินกู้ของสถาบันการเงินต่างๆ  ไม่มั่นคงพอ  ขณะที่ยังคงปล่อยเงินกู้  ทำให้ขาดความเชือมั่นในสถาบันการเงินและความสามารถในการชำระหนี้เงินกู้ของประเทศ  ส่งผลให้เกิดการเก็งกำไรค่าเงินบาทของนักลงทุนในต่างประเทศ  มีการไหลออกของเงินทุนระยะสั้นอย่างรวดเร็ว  ระบบการเงินและเศรษฐกิจของประเทศจึงขาดเสถียรภาพและเข้าสู่วิกฤตในที่สุด
                   วิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจของประเทศดังกล่าว  ได้ส่งผลให้เศรษฐกิจที่เคยขยายตัวก่อนหน้านี้มีการหดตัวอย่างรุนแรง  โครงสร้างระบบสถาบันการเงินประสบกับความอ่อนแอ  และไม่สามารถดำเนินการตามกลไกอย่างปกติ  ปัญหาหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) สร้างความอ่อนแอต่อระบบสถาบันการเงิน  และทำให้เกิดปัญหาสังคมตามมา  ได้แก่  การว่างงานและคนยากจนเพิ่มขึ้น  นอกจากนี้หนี้สาธารณะของประเทศก็เพิ่มขึ้นด้วย
                   ภายหลังจากเกิดวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจ  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงมีพระราชดำรัสครั้งแรก  เพื่อชี้แนะแนวทางการแก้ไขสถานการณ์ให้ประเทศชาติและประชาชนรอดพ้นจากความเดือดร้อนโดยทรงเพิ่มคำว่า เศรษฐกิจ  เข้าไป  จากเดิมที่ทรงใช้คำว่า พอเพียง  อยู่แล้วจึงเป็นที่มาของคำว่า  เศรษฐกิจพอเพียง   นี้เป็นปรัชญาที่ชี้ถึงแนวการดำรงอยู่และปฏิบัติตนของประชาชนทุกระดับ  ตั้งแต่ครัวเรือน  ชุมชน  จนถึงรัฐในการบริหารประเทศให้ดำเนินไปในทางสายกลาง  โดยเฉพาะการพัฒนาเศรษฐกิจเพื่อให้ก้าวทันต่อยุคโลกาวิวัฒน์  และในส่วนของแต่ละบุคคลที่จะดำรงชีพอย่างไม่อดอยากขาดแคลน

 
3. องค์ประกอบของเศรษฐกิจพอเพียง
                   องค์ประกอบหลักของแนวคิดระบบเศรษฐกิจแบบพอเพียงสรุปตามกระแสพระราชดำรัสได้ ดังนี้
                   1.   เศรษฐกิจแบบพอเพียงเป็นระบบเศรษฐกิจที่ยึดถือหลัก  งานเป็นที่พึ่งแห่งตน   โดยมุ่งมั่น  การผลิตพืชผลให้เพีงพอแก่ความต้องการในการบริโภคในครัวเรือนเป็นอันดับแรก  เมื่อเหลือจากการบริโภคจึงผลิตเพือการค้าเป็นอันดับรองลงไป
                   2.   เศรษฐกิจแบบพอเพียงให้ความสำคัญกบ การรวมกลุ่ม  ของชาวบ้าน  กลุ่มชาวบ้าน  หรือ  องค์กรชาวบ้านทำหน้าที่เป็นผู้ดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจต่างๆ  ให้หลากหลายครอบคลุมทั้งการเกษตรแบบผสมผสาน  หัตถกรรม  การแปรรูป  อาหาร  การทำธุรกิจค้าขาย  และการท่องเที่ยวระดับชุมชน  ฯลฯ
                   3.   เศรษฐกิจพอเพียงตั้งอยู่บนพื้นฐานของ  ความเมตตา  เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่   และความ  สามัคคี  ของสมาชิกในชุมชนในการร่วมแรงร่วมใจเพื่อประกอบอาชีพต่างๆ  ให้บรรลุผลสำเร็จ  ประโยชน์ที่เกิดขึ้น จึงไม่ได้หมายถึงรายได้เพียงอย่างเดียว  แต่ยังรวมถืงประโยชน์อย่างอื่นด้วย  ได้แก่  ความมั่นคงของสถาบันครอบครัว  สถาบันชุมชน  การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  การพัฒนากระบวนการเรียนรู้ของชุมชนบนพื้นฐานของภูมิปัญญาท้องถิ่น  รวมทั้งการรักษาขนบธรรมเนียมประเพณีอันดีงามของไทย

4. การประยุกต์ใช้กับชีวิตประจำวัน
                   วิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจของประเทศไทยที่เกิดในปี 2540  เป็นเหตุการณ์ที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้  แต่ผลกระทบจะไม่รุนแรงมากนัก  หากได้มีการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจโดยยึดถือหลักความพอดีกับศักยภาพองตนเองบนพื้นฐานของการพึ่งพาตนเอง  รวมทั้งมีความเอื้ออาทรต่อบุคคลอื่นเป็นสำคัญ
                   พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ  ได้พระราชทานแนวพระราชดำริเศรษฐกิจพอเพียง  เพื่อแก้ไขวิกฤตการณ์ด้านเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ  นอกจากจะทรงชี้แนะเรื่อเกษตรทฤษฎีใหม่  โดยเกษตรกรจะดำรงชีพอย่างไม่อดอยาก  ซึ่งจะต้องสร้างรากฐานของขน บทให้แข็งแรงเพียงพอที่สามารถพึ่งตนเองได้ในระยะยาว  พระองค์ยังพระราชทานเพิ่มเติมเกี่ยวกับเศรษฐกิจพอเพียงสำหรับเกษตรกรด้วย  ซึ่งสรุปหลักการพื้นฐานได้ ดงนี้
                   ขั้นที่ 1   มีความพอเพียง  เลี้ยงตนเองได้บนพื้นฐานของความประหยัด
                   ขั้นที้  2  รวมพลังในรูปกลุ่ม  เพื่อทำการผลิต  การตลาด  การจัดการ  รวมทั้งสวัสดิการ  การศึกษา  และการพัฒนาสังคม
                   ขั้นที่ 3   สร้างเครือข่ายกลุ่มอาชีพ  และขยายกิจกรรมทางเศรษฐกิจให้หลากหลาย  เช่น  เงินทุน การตลาด 
การผลิตการจัดการโดยประสานความร่วมมือภาคต่างๆ  ได้แก่  ภาคธุรกิจ  องค์กรพัฒนาเอกชนและภาคราชการ

แนวทางการดำรงชีวิตโดยยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียง
                เศรษฐกิจพอเพียง  ในระดับบุคคลคือ  ความสามารถในการดำรงชีวิตได้อย่างไม่เดือดร้อน  มีความเป็นอยู่อย่างประมาณตนตามฐานะอัตภาพ  โดยไม่หลงไหลไปตามกระแสวัตถุนิม  กล่าวโดยสรุปคือ  การยึดทางสายกลางในการดำรงชีวิต  โดยสามารถพิจารณาเป็นหลักการดังนี้
1.)   พิจารณาความพอเพียง  พออยู่  และพอกินพอใข้ในการดำเนินชีวิต
2.)   ประหยัดไม่ฟุ่มเฟือย  โดยตัดทอนรายจ่ายที่ไม่จำเป็น
3.)   ประกอบอาชีพสุจริตเป็นสำคัญ
4.)   ละเว้นการแก่งแย่งผลประโยชน์และการแข่งขันกันทางการค้า
5.)   ขวนขวายใฝ่หาความรู้เพื่อใช้ประกอบอาชีพในการเพิ่มพูนรายได้จนถึงขั้นพอเพียงต่อการดำรงชีพ
5.)   การยึดทางสายกลาง  ไม่มากหรือน้อยเกินไป
6.)   ใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่นที่บรรพบุรุษได้สั่งสมมาเป็นแนวทางการดำเนินชีวิตให้เกิดประโยชน์ต่อครอบครัว  และชุมชน
7.)   ยึดถือวิถีชีวิตแบบไทย  มีความเป็นอยู่เรียบง่ายและไม่ถือวัตถุเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวของชีวิต
8.)   ปฏิบัติตนในแนวทางที่ดี และละอายต่อการประพฤติมิชอบ